[Review] Diablo Immortal

 

"ถ้าจะมี Diablo สักภาคที่โดนปรามาสมากที่สุด มันก็ต้องภาคนี้แหละ"

        สวัสดีเหล่าเนฟาเลม Crucifer เองครับ ขอต้อนรับเข้าสู่ Diablo Immortal Review ครั้งนี้จะต่างจาก Overview เพราะเป็นการเน้นเล่าความรู้สึกจากประสบการณ์มากกว่าการสรุปข้อมูลแล้วแทรกความคิดเห็นอย่างที่ผ่านมา (อันที่จริงก็ยังมีข้อมูล เพียงแต่จะเน้นอธิบายเพื่อเล่าประสบการณ์แบบสังเขป) ในฐานะแฟนซีรี่ย์ Diablo ที่พูดเต็มปากได้ว่าระดับเดนตายและไม่ได้มีผู้สนับสนุนก็จะเขียนถึงภาพรวมของเกมภาคนี้กันแบบไม่เกรงใจใครและไม่มีข้อจำกัดใดทั้งสิ้น หลายท่านคงยินเสียงเลื่องลือเล่าอ้างถึงความเลวร้ายของภาคนี้ แต่ในฐานะของแฟนซีรี่ย์ Diablo มาตลอดระยะเวลาหลายปีรวมถึงเล่นภาคนี้จนจบ 2 Season Passes จะมาชำแหละให้ดูว่าภาคนี้มีดีและมีร้ายอย่างไร


        มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า Diablo Immortal เกิดจากการร่วมพัฒนาของ Blizzard x NetEase (ซึ่งค่ายหลังมาจากจีนและเป็นค่ายที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องอะไรก็รู้กันดีอยู่) อาจจะมีบางท่านที่ไม่รู้ว่าทำไมทั้งสองค่ายมาจับมือกันได้ก็ต้องย้อนกลับไปยังสมัย Diablo III เปิดเซิฟเวอร์จีน สนใจอ่านต่อที่ [Overview] Diablo III - 10th Anniversary Reign of the Prime Terror Overview

        เหตุที่ต้องอ้างอิง เพราะภาคนี้มีพื้นฐานการออกแบบโลก เรื่องราว แม้กระทั่งตัวละครที่เปิดให้เล่นก็มาจาก Diablo III เป็นหลัก อย่างไรก็ตามพื้นฐานและระบบหลายอย่างกลับ"ต่าง"จากภาคหลักอย่างมากเพราะเป้าหมายคือการพัฒนาให้เป็น "MMO" เพื่อเครื่องมือถือเป็นหลัก รูปแบบของการบริการ การบังคับ การพัฒนาตัวละคร การนำเสนอโลกของ Sanctuary จึงเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งหมดเพื่อความสะดวกและไหลลื่นในการเล่นบนเครื่องที่มีข้อจำกัดเยอะ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปนั้นจะดีขึ้นหรือแย่ลงแค่ไหน มาดูกัน



หนึ่งในฉากเปิดอันน่าจดจำของภาคนี้

การนำเสนอเรื่องราวที่ออกมาดูดี

งานศิลป์ที่ดูก็รู้ว่ามี Diablo III เป็นต้นแบบ แต่ยกระดับมาอีกขั้น

        Diablo Immortal เป็นเรื่องราว 5 ปีหลังจาก Diablo II: Lord of Destruction (และ 15 ปีก่อนเริ่มเรื่องราวของ Diablo III) เริ่มด้วยเศษซากของ Worldstone หลังเหตุการณ์ Lord of Destruction ได้กระจายไปทั่วทุกมุมโลก แม้จะเหลือเพียงเศษศิลาแต่อำนาจของมันยังเพียงพอจะทำให้เกิดสิ่งชั่วร้ายได้ คุณจะได้รับคำขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าแห่ง Wortham เพื่อช่วยเหลือหมู่บ้านจากเหตุการณ์ประหลาดที่มีลัทธิ Cult of Damnation อยู่เบื้องหลังและค้นพบความจริงว่าพวกมันบูชา สคาร์น จ้าวแห่งการแช่งสาป (Skarn, Lord of Damnation) และกำลังตามหาเศษซาก Worldstone เพื่อรุกรานโลกแห่ง Sanctuary

Skarn, Lord of Damnation

        ในด้านการเล่าเรื่องราวภาคนี้เป็นภาคแรกที่ไม่ได้แบ่งออกเป็น Acts อย่างชัดเจนเหมือนภาคหลัก (ถ้าหากแบ่งได้คาดว่าน่าจะแบ่งตามเศษซาก Worldstone ที่พบในแต่ละแห่งมากกว่า) อย่างไรก็ตามการเล่าเรื่องถือว่าค่อนข้างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ การจบเส้นเรื่องหลักยังทิ้งประเด็นไว้ทำให้รู้ว่าในอนาคตต้องมีการอัพเดตเพิ่มเรื่องราวอีกแน่นอนเพราะค้างคาสุด ๆ นอกจากนี้ตัวละครดั้งเดิมของซีรี่ย์ที่โผล่มามากหน้าหลายตาในภาคนี้ไม่ได้มีการกระทำขัดกับบุคลิกตัวละครสักเท่าไหร่ (ยกเว้นปู่ Deckard Cain ที่ภาคนี้ไม่ยอม Identify ให้เรา) ส่วนตัวละครใหม่ (หรือที่หน้าคุ้นเคยจาก Diablo III) ถือว่าเป็นส่วนเสริมที่อาจไม่เกี่ยวกับเส้นเรื่องหลัก แต่มีบทบาทเพิ่มเติมในเส้นเรื่องที่แตกออกไปของตนเองในคอนเทนต์ที่เรียกว่า Elite Quests ซึ่งสามารถเล่นได้หลังจบเส้นเรื่องหลักและมีโอกาสเพิ่มส่วนเสริมนี้ได้อีกตามเส้นเรื่องที่เหลือทิ้งไว้ ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจพอสมควร ไม่เพียงแค่นี้ Side Quests ที่จบในตัวเองถือว่ามีเรื่องราวดีพอสมควร สั้น เน้นจบในภารกิจเดียวหรืออย่างมากก็ต่อเนื่องประมาณ 2-3 ภารกิจ ไม่ค่อยซ้ำซากและผูกกับตัวละครในเรื่องราวอย่างแนบเนียน Storytelling ของภาคนี้จึงนับว่าทำออกมาได้ดี

Beyond my reach... ที่ Shield Glare ยิงไปถึง

        อย่างไรก็ตาม การนำเสนอไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็ย่อมมีจุดด่างพร้อยเป็นธรรมดา เพราะการเล่นเส้นเรื่องหลักของภาคนี้จะมีการ "เว้นช่วง" ด้วยการตัดภารกิจหลักแล้วเพิ่มเงื่อนไขเลเวลที่เหมาะสมจะไปทำได้ พบได้ค่อนข้างบ่อย ประมาณ 2-3 ครั้งเลยทีเดียว ยิ่งพยายามเล่นไวมากขึ้นเท่าไหร่ ความรู้สึกของการเว้นช่วงที่ต้องฟาร์มเลเวลไปต่อยิ่งเยอะขึ้นมากเท่านั้น หลายคนเลยเบื่อโดยที่ยังไม่ทันจะเลเวลถึง 60 เลยด้วยซ้ำ ส่วนบทของภาคนี้ที่ไม่ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ออกมาดูดีก็ยังมีส่วนที่บทที่ทำให้ยิ้มเจื่อน ๆ ต้องถือว่าโชคดีที่บทส่วนนั้นมันเล็กน้อยมากแต่ก็อดขำไม่ได้อยู่ดี นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหญ่ที่ภาคนี้ต้องตอบให้ได้อย่างการสร้างเรื่องราวที่หลายจุดตอนนี้ยังขัดกับเส้นเรื่องหลักของซีรี่ย์ก็ถือว่ามีปัญหาอยู่มากเลยทีเดียว หลายจุดในเส้นเรื่องหลักของ Diablo Immortal นำมาซึ่งคำถามมากมายตั้งแต่เรื่องราวที่เล่า บรรยากาศ สถานที่ซึ่งเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังเท้า รวมไปถึงเส้นเรื่องที่จำเป็นต้องมีจุดเชื่อมโยงไปยัง Diablo III จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในกลุ่มชุมชนที่ติดตามซีรี่ย์เต็มไปด้วยคำถามกับสิ่งเหล่านี้ ณ ตอนนี้ถ้าเห็นมีมที่ล้อภาคนี้นอกจาก Immoral ว่าเป็น Diablo What If อีกก็อย่าแปลกใจ เพราะมันเยอะมากจริง ๆ



Tileset เดิมจาก Arreat Crater ที่กลายเป็น Hell จริง ๆ ซะที

Tileset เดิมจาก Tristram Cathedral ที่มีรายละเอียดมากขึ้น

Tileset ที่คุ้นตาจาก Diablo III แต่อัพเกรดใหม่

        ว่ากันด้วยโลกของ Diablo Immortal ถือว่าเป็นภาคที่รับมรดกของ Diablo III มาเยอะมากทั้งรูปแบบการพัฒนาตัวละครที่ถึงเปลี่ยนไปแต่ยังมีลายเซ็นอยู่ รูปแบบของดันเจี้ยนต่าง ๆ ที่ยังเค้าลางจากต้นฉบับแต่เพิ่มความน่าสนใจและฉากเข้าไป ตลอดจนงานศิลป์ที่ใครได้ผ่าน Diablo III มายาวนานเห็นแล้วต้องบอกว่าสำเนาถูกต้องแน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบโลกทัศน์ที่ยกระดับให้น่าหลงใหล 

ถูกคนนอกแย่งเหยื่อไปกลายเป็นเรื่องปกติที่น่าหงุดหงิด

MMO ภาพจำที่ทำให้นึกถึงเกมบางเกม

ขอต้อนรับสู่โลกแห่งความวุ่นวาย

        อย่างไรก็ตามภาคนี้เป็นภาคที่แหกธรรมเนียมเยอะมาก ทั้งการยกเลิกระบบ Resource ที่เป็นเอกลักษณ์นับแต่ Diablo III การเปลี่ยนทักษะส่วนใหญ่เพื่อรองรับการเล่นบนมือถือ และอีกมากมายที่กล่าวได้ไม่หมด แต่หนึ่งในสิ่งที่แย่ที่สุดของภาคนี้คือการนำเสนอในฐานะ "MMO" อย่างเต็มรูปแบบ อย่าลืมว่าภาคนี้การพัฒนาจะตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าทำมาสำหรับเครื่องมือถือเกมจึงมีขนาดพื้นที่ถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับภาคปกติที่พัฒนาบน PC เพราะฉะนั้นคุณจะได้เจอทุกคนบนเซิฟเวอร์ที่อยู่ในแผนที่เดียวกันไม่ว่าจะในพื้นที่เมืองหรือพื้นที่ล่าก็ตาม ฟังแล้วเหมือนจะดูดีนะ แต่โลกที่ถูกบรรยายผ่านซีรี่ย์ตลอดมามันไม่ใช่แบบนี้ Sanctuary เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว วังเวง และอันตรายทุกหนแห่ง การมอบพื้นที่ให้มีผู้เล่นอิสระโดยไม่กำหนดขีดจำกัดจำนวนผู้เล่นสามารถทำลายภาพจำเหล่านั้นในระดับย่อยยับไม่มีชิ้นดีลงได้อย่างง่ายดาย บรรยากาศในเกมเลยเสียไปอย่างมาก ซ้ำยังมีปัญหาที่มักเจอใน MMO ทั่วไปอย่างจำนวนผู้เล่นในแผนที่เยอะเกินจนศัตรูเกิดไม่ทันที่นำไปสู่ปัญหาผู้เล่นอื่นมาแจม ซึ่งทางทีมพัฒนาดูจะไม่ใส่ใจกับปัญหานี้สักเท่าไหร่เพราะแก้ปัญหาด้วยระบบ "ใครโจมตีเปิด คนนั้นได้ของดีที่สุด" การฟาร์มหาของบนพื้นที่ MMO ขนาดเล็กจึงเป็นอุปสรรคที่ชวนหงุดหงิดอย่างมหาศาลเพราะจะไม่ทันพวกเคลื่อนที่เร็วหรือพวกโจมตีระยะไกล นี่ยังไม่รวมว่าแม้กระทั่ง"สิ่งนั้น"ที่คุ้นเคยมาตั้งค่ายฟาร์มอย่างเป็นระบบก็มี ซ้ำด้วยเพราะแนวเกมถูกเปลี่ยนมาเป็น MMO กิจกรรมหลายอย่างเลยถูกกำหนดให้ปรากฏเฉพาะช่วงเวลาจำกัด เหตุเหล่านี้กลายเป็นข้อติดลบสำหรับแฟนซีรี่ย์ที่ชื่นชอบ Private Game แบบดั้งเดิมอย่างหนีไม่พ้น

        ในส่วนระบบพื้นฐานอื่น ๆ ของภาคนี้ก็มีหลายสิ่งต่างไปจากต้นฉบับเดิม เริ่มที่การบังคับและการปรับแต่งตัวละครกันก่อน ภาคนี้เรียกได้ว่ายกเครื่องจนแทบจะไม่เหมือนภาคไหนเลยสักภาค (มีความคล้ายคลึงกับ Diablo III มากที่สุด แต่ก็ยังไม่เหมือนอยู่ดี) แต่ผลลัพธ์ที่ได้มาคือลดความซับซ้อนตลอดจนลดความเป็นไปได้ของสายใหม่ ๆ แลกกับการเล่นค่อนข้างลื่นไหลสำหรับเครื่องมือถือ ถือว่ามีดีมีร้ายสลับกัน

  • ด้านการบังคับ ด้วยมือถือจะใช้จอสัมผัสเป็นหลักทำให้ค่อนข้างลื่นไหล ยิ่งใครมีพื้นฐานจากการบังคับในเครื่อง Console ยิ่งหายห่วงเพราะน่าจะคุ้นชินกันดี แต่ PC อาจต้องปรับแต่งตำแหน่งปุ่มบังคับกันสักนิด ก็สามารถบังคับได้ดีระดับหนึ่ง แน่นอนว่าสามารถใช้เมาส์เป็นหลักได้ด้วย แต่อย่างไรก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องที่พัฒนาโดยมีพื้นฐานเป็นเครื่องมือถือ รูปแบบการใช้ทักษะเลยอิงการเล่นบนมือถือและบางคลาสอาจถึงขั้นไม่ถนัดมือเลยก็ได้ เช่นการระเบิดศพของ Necromancer ที่นอกจากพลังโจมตีเบาลงมากแล้วรูปแบบการใช้งานเปลี่ยนไปจากเลือกพื้นที่ระเบิดจุดใดก็ได้กลายเป็นรัศมีสั่งระเบิดแบบประชิดตัวซึ่งจะใช้ไกลจากตัวละครไม่ได้ บางคนจึงโบกมือลาภาคนี้เพราะการบังคับตัวละครก็มี
  • ไม่มีการใช้ค่าพลังงาน ซึ่งต่างจากภาคหลักที่แล้วมา ทักษะส่วนใหญ่เมื่อใช้แล้วจะมีระยะเวลาใช้ใหม่ แต่ทักษะที่ร่ายต่อเนื่องจะมีพลังงานคงที่แน่นอน เพราะฉะนั้นการใช้ทักษะจำเป็นต้องคิดให้ดี
  • ทักษะของแต่ละตัวละครปลดล็อคตามเลเวล และด้วยความน้อยนิดของทักษะที่มีสภาพของทักษะแต่ละตัวละครจึงเหมือนมัดคอมโบทักษะเป็นชุดไว้เรียบร้อยแล้ว หากจะหวังให้มีรูนเหมือน Diablo III บอกเลยว่าไม่มี อย่างไรก็ตามยังมีระบบที่คล้ายกันรองรับอยู่ เพียงแต่มีข้อจำกัดมากกว่า
  • การเปลี่ยนหน้าที่ของอุปกรณ์สวมใส่เกิดขึ้นในภาคนี้ โดยมีการแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ Legendary Items ที่ทำหน้าที่เสมือนรูนทักษะของ Diablo III ซึ่งสามารถเลือกใส่ได้ตามชอบกับ Set Items ที่มอบความสามารถเพิ่มเติมตามเซ็ตและจำเป็นต้องเข้ากับ Legendary Items
  • Paragon คือหนึ่งในส่วนดีที่สุดของภาคนี้ที่มีทั้งการเพิ่มค่าพลังตัวละครแบบถาวรและการเลือกโบนัสเฉพาะสาย สามารถสับเปลี่ยนได้ทุกเมื่อที่ต้องการและรีเซ็ตค่าใหม่ได้สัปดาห์ละครั้ง

        ระบบต่าง ๆ ของเกมจะค่อย ๆ นำเสนอเมื่อเส้นเรื่องหลักและเลเวลของตัวละครไปถึงจุดหนึ่งซึ่งมีมากมายไม่ว่าจะ Bestiary, Dungeons, Hidden Lairs, Elder Rifts, Challenge Rifts, Helliquary, Warband, Clan, Zone Trials, Elite Quests, Side Quests, Legacy of the Horadrim ตลอดจน Cycle of Strife เรียกได้ว่าเยอะมากจริง ๆ และระบบเหล่านี้เป็น Endgame Contents อีกด้วย 

Bestiary คัมภีร์สัตว์อสูร

Hidden Lairs ดันเจี้ยนขนาดเล็กซึ่งสุ่มทางเข้า

ภายใน Hidden Lairs ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ชั้นและอีเวนท์ย่อยชั้นละ 2 จุด

  • Bestiary คัมภีร์สัตว์อสูรที่เก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับศัตรูในภาคนี้ หาจากการเก็บ Monstrous Essences ให้ถึง 10 ลูก ซึ่งถึงจะหายากบ้าง แต่ไม่หนักใจเท่ามีโอกาสได้ซ้ำ (ซ้ำเยอะซะด้วย) 
  • Dungeons เป็นไปตามชื่อของมัน ปรากฎตามเส้นเรื่องหลักเพื่อเล่นครั้งเดียวจบตามเรื่องราว แต่พอถึงช่วง Endgame จะเปลี่ยนหน้าที่ให้มีไว้เพิ่มคะแนน Battle Pass และไว้หา Set Items เป็นหลัก 
  • Hidden Lairs ดันเจี้ยนขนาดเล็กที่มีภารกิจย่อยข้างใน มีจุดเกิดแบบสุ่มและจำกัดการเข้าได้เพียงครั้งละกลุ่มเท่านั้น ใช้ในการตามหาอัญมณีเพราะมีการันตีการตกจึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก 
Elder Rifts

Challenge Rifts
  • Elder Rifts เปรียบเสมือน Nephalem Rifts ของ Diablo III ที่มีเรื่องการจับเวลาและการเพิ่มลูกเล่น สามารถตก Legendary Gems ซึ่งมีส่วนในการช่วยเล่นแต่ละสายเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าขาดไม่ได้กันเลย แต่โอกาสตกของ Legendary Gems ต่ำมาก ต้องมี Crests เพื่อเพิ่มโอกาสตก นอกจากนี้ Crests ยังมีส่วนในการเพิ่ม Rift Modifiers ที่เพิ่มลูกเล่นช่วยเหลือหรือซ้ำเติมให้ลำบากขึ้นได้
  • Challenge Rifts เปรียบเสมือน Greater Rifts ดั้งเดิมของ Diablo III สามารถตกของอัพเกรดอุปกรณ์รองรวมไปถึงมีตารางจัดลำดับและรางวัลสำหรับผู้ที่ไต่แต่ละระดับประจำสัปดาห์ ไม่เพียงแค่นั้นการผ่านในระดับที่สูงมากขึ้นจะปลดล็อคระดับอุปกรณ์ที่ตกได้จากบางแหล่งอีกต่างหาก
Helliquary การล่าเรดบอสพื้นฐานของเกม มีทั้งแบบปกติและล่าแบบ Warband
  • Helliquary ตั้งกลุ่มแปดคนล่า Raid Boss ซึ่งการอัพเดตแพทช์ใหญ่แต่ละครั้งจะมีบอสเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ให้ของอัพเกรดความสามารถแก่ผู้เล่นยามลงท้าทายใน Challenge Rifts 
  • Warband การตั้งชุมชนใหม่เฉพาะของภาคนี้ จะเป็นการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมออกล่าเพื่อสร้างและออกแบบแคมป์ประจำ Warband ด้วยกัน สามารถนัดเจอกันเพื่อออกล่าเป็นกลุ่มได้ง่ายตลอดจนลง Helliquary Warband Raid โดยเฉพาะซึ่งให้รางวัลมากกว่าการลง Raid ปกติเสียอีก
  • Clan ชุมชนระดับใหญ่ แต่แทบไม่มีอะไรเลยนอกจากการรวมกลุ่มกันของผู้เล่น สิ่งที่เป็นคอนเทนต์หลักของ Clan ทำได้คืออัพเกรดเปลี่ยนเป็น Dark Clan เพื่อการพิชิต Immortals เท่านั้น
Haunting Carriage ซึ่งเป็น Zone Trial ประจำ Ashwold Cemetery

Ancient Arena ซึ่งเป็น Zone Trial ประจำ Bilefen

Side Quests แต่ละภารกิจมีเรื่องราวของตนเอง
  • Zone Trials หรืออีเวนท์ประจำโซนซึ่งจะประจำโซนละ 1 อีเวนท์ มีทั้งแบบที่เกิดขึ้นทันทีที่เงื่อนไขครบหรือมีช่วงเวลาเกิดแน่นอน เป็นเหมือนจุดรวมของผู้เล่นในเซิฟเวอร์เมื่อถึงเวลา บางครั้งจะมีของรางวัลให้ซึ่งบางอย่างก็คุ้มค่าที่จะฟาร์มแต่บางครั้งก็ไม่แต่ก็ยังมีผู้เล่นมาร่วมอยู่เสมอ
  • Elite Quests คือเส้นเรื่องที่แตกออกมาจากเส้นเรื่องหลักอีกที เป็นเรื่องราวของตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักโดยจะเล่าเหตุการณ์หลังจากนั้นไปตามแต่ละตัวละคร 
  • Side Quests ตามชื่อ มันคือภารกิจรองที่จบในตัว มีทั้งเรื่องที่ธรรมดาดาษดื่นทั่วไปจนถึงเรื่องที่น่าสนใจหรือแม้กระทั่งภารกิจที่มาจากตัวละครบางตัวที่พบได้จากทุกพื้นที่ก็มีเช่นกัน
Sanctum Shrine แท่นบูชากลางวิหารใต้ดินแห่ง Iben Fahd's Sanctum

Legacy of the Horadrim การพัฒนาที่เลือกได้ผ่าน Horadrim Vessels
  • Legacy of the Horadrim รูปแบบการอัพเกรดใหม่ที่เพิ่มในภาคนี้โดยการให้ผู้เล่นควานหา The Horadrim's Vessels ที่เป็นภาชนะบรรจุจิตของเหล่า Horadrim กลุ่มจอมเวทย์ผู้อยู่ใต้สังกัดของ Tyrael และทำการล่าพร้อมผนึกเจ้าอสูรทั้งหลายให้ช่วยเหลือผู้เล่นในการเพิ่มความสามารถด้านต่าง ๆ โดยเมื่อพบภาชนะแล้วให้ลงไปยัง Iben Fahd's Sanctum และนำไปใส่ในแท่นบูชากลางวิหาร จากนั้นเข้าสู่โซนดันเจี้ยนที่ทำได้ 1 ครั้งต่อวันเพื่อทำการรวบรวม Aspirant's Key นำไปเปิดกล่องในตอนจบและนำวัตถุดิบที่ได้ไปเพิ่มระดับภาชนะเพื่อเพิ่มค่าพลังต่าง ๆ ของผู้เล่นโดยตรง
Contracts ภารกิจเพื่อช่วยเหล่า Shadows

The Vault คลังสมบัติซึ่ง Shadows เข้ามาปล้นและ Immortals ต้องปกป้อง

Assembly กับการรับพรที่แสนวุ่นวายและมีโอกาสเสียเวลาอย่างน่าเหลือเชื่อ

ขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่ Shadows เพื่อโค่น Immortals
  • Cycle of Strife เรื่องราวที่สอดแทรกและกลายเป็น Endgame Content ฝั่ง PvP ของภาคนี้ โดยผู้เล่นจะได้รับรู้เรื่องราวของเนฟาเลมและเหล่าผู้พิทักษ์แห่ง Sanctuary ที่ถูกขนานนามว่า "Immortals" และการท้าทายโดย "Shadows" เพื่อชิงตำแหน่งจนเกิดเป็นวัฏจักร Cycle of Strife เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของเกม ผู้เล่นจะถูกชักชวนเข้าร่วมกับ Shadows มีกิจกรรมมากพอสมควรเพื่อเก็บสะสมขั้นไต่จากการเป็น Shadows เข้าร่วม Dark Clan แล้วไปท้าทาย Immortals เพื่อขึ้นครองเป็น Immortal คนใหม่และครองเซิฟเวอร์รวมไปถึงเข้าคอนเทนต์ Endgame ที่แท้จริงอย่าง Eternal Crown ที่เพิ่มความสามารถให้ฝ่าย Immortals หรือ Kion's Ordeal ซึ่งเป็น Raid Boss แบบ 48 คน เป็นกิจกรรมที่จำกัดสิทธิ์เฉพาะ Immortals เท่านั้น

        อย่างไรก็ตาม แม้การมีระบบเยอะแยะมากมาย แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ซ้ำร้ายยังอาจยากต่อการจัดการก็เป็นได้ เพราะพอเป็น MMO มีเรื่องเวลาของกิจกรรมที่จะปรากฏซึ่งจำต้องอยู่ในช่วงเวลานั้นเสมอจนผู้เล่นหลายคนเอียนเพราะต้องเล่น "ประจำ" ราวกับเป็นชีวิตประจำวัน หรือการที่ ระบบชุมชนต่าง ๆ เยอะเกินไป อย่างการแยก Warband ออกมาจาก Clan อีกทีทั้ง ๆ ที่ทั้งสองระบบสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ก็แยก Warband ให้เกิดความซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้น ทว่า Clan กลับเป็นแค่การรวมตัวกันของผู้เล่นเพื่อไม่พูดคุยก็อัพเกรดเป็น Dark Clan ไปตีกับคนอื่นแค่นั้น แถมหน้าต่าง Clan ยังใช้งานยากอีกต่างหาก จะทำอะไรก็ต้องผ่าน NPC เฉพาะกิจจนน่าหงุดหงิด เรื่องที่น่าตำหนิเยอะแยะไปหมด

        ไม่เพียงแค่นั้น สำหรับเกมที่เน้นการ Grinding โดยเฉพาะกับซีรี่ย์ Diablo ภาคนี้อาจเป็นของแสลงสำหรับหลายท่านก็ได้ โดยปกติแล้ว Loot ไม่ว่าภาคไหนจะมีข้อจำกัดเฉพาะด้านเลเวลและระดับความยากเท่านั้น ไม่มีเหตุให้ต้องซับซ้อนมากกว่านี้ (ยกเว้น Bounty ของ Diablo III) เมื่อออกพื้นที่ล่าที่มีเลเวลเดียวกับไอเทมก็มีโอกาสตกเสมอ แต่ไม่ใช่กับภาคนี้เพราะบางอย่างหาได้กับพื้นที่เฉพาะเท่านั้น เช่น Set Items มีโอกาสตกแค่ใน Dungeons (แน่นอนว่าสัมพันธ์กับระดับความยาก) หรืออัญมณีที่สามารถหาได้ง่ายแค่ใน Hidden Lairs (ไม่เช่นนั้นก็ต้องเล่นกันแบบเป็นกลุ่ม 4 คนถึงมีโอกาสตกสูงพอสมควร) การหา Monstrous Essences เพื่อเปิดคัมภีร์สัตว์อสูรไม่สามารถหาในริฟท์หรือดันเจี้ยนได้ แปลว่าหากต้องการฟาร์มทุกอย่าง (ซึ่งจำเป็นต้องทำ) ก็ต้องวิ่งทุกคอนเทนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เปลืองแรงอย่างมหาศาลเกินความจำเป็นไปมาก รวมทั้งยังขัดกับระบบ Loot ของทุกภาค

        ไม่เพียงแค่นั้น ปัจจุบันยังมีการพิสูจน์ได้แล้วว่าภาคนี้มี "Hidden Cap" หรือเพดานจำกัดที่ถูกซ่อนเอาไว้เพื่อกันไม่ให้การพัฒนาตัวละครไปได้ไวกว่าที่ทีมพัฒนาต้องการ ตัวอย่างข้อจำกัดที่พบเจอเองและพิสูจน์แล้วเช่น อัญมณีจะตกใน Hidden Lairs แค่ประมาณ 6 เม็ดต่อวันหลังจากนั้นจะตกยากขึ้นมหาศาล หรือศัตรูระดับ Ancient Elite หรือกะโหลก (ชื่อ) ส้มซึ่งสามารถให้ Legendary Items กับคนที่สร้างความเสียหายคนแรกได้จะการันตีตกให้ได้แค่ 2 ชิ้นต่อวันโดยประมาณเพียงเท่านั้น แต่หากได้จากแหล่งอื่นมาก่อนแล้วการันตีของ Legendary Items ก็จะเป็นหมันไปด้วย ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ตัวละครเติบโตช้ามาก 

        อีกสิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนจะเข้าสู่หัวข้อต่อไปคือพื้นฐานการพัฒนาตัวละครของภาคนี้ซึ่งไม่เหมือนกับ Diablo III ซึ่งพลังโจมตีของทักษะจะไปอยู่กับ Skill Multipliers จากอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่สัมพันธ์กัน แต่ใน Diablo Immortal สิ่งที่วัดค่าเหล่านั้นใช้ Combat Rating เป็นตัววัดทั้งหมด 

        Combat Rating คือการตีค่าอุปกรณ์ที่ใส่แล้ววัดออกมาเป็นคะแนนรวมว่าไปถึงระดับไหน เป็นตัวบอกระดับความยากที่เหมาะสมของผู้เล่น ซึ่งจะมีสามแหล่งหลักที่มาช่วยวัดค่า Combat Rating นั่นคือ คะแนนอุปกรณ์ การอัพเกรด และค่าจาก Legendary Gems อย่างไรก็ตามการจะดันค่า Combat Rating ในช่วง Endgame คือนรก สำหรับผู้เล่นเพราะอุปกรณ์ที่ตกในช่วงหลังนั้นจะให้ความรู้สึกเหมือน Diablo III Original ในยุค Auction House ครองเมืองคือ ค่าพลังที่ต้องการอย่าง Critical Chance, Attack Speed, Skill Damage หรืออะไรทำนองนี้จะอยู่กับอุปกรณ์ที่มีคะแนนต่ำ ขณะที่ค่าที่แทบไม่จำเป็นอย่าง Stun Resist, Cheat Death ตกกันแบบมืดฟ้ามัวดิน เพราะฉะนั้นถ้าหวังพึ่งอุปกรณ์ไม่ได้ หนทางสุดท้ายก็จะไปตกอยู่กับ Legendary Gems นั่นเอง ทั้งหมดนำไปสู่สิ่งที่พยายามยัดเยียดขายนั่นคือ Microtransactions 


        สำหรับภาคนี้ หนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนไปต่างจากทุกภาคคือรูปแบบการบริการที่เป็นจาก Seasonal Cycling กลายมาเป็น Long-Update Contents หรือการเล่นได้ต่อเนื่องระยะยาวโดยไม่ต้องทำการเริ่มเล่นใหม่แบบซีซั่นของภาคก่อน และนั่นทำให้ทั้งสองค่ายใหญ่สามารถยัดเยียด Microtransactions หรือร้านค้าย่อยในเกมที่หลายท่านอาจรู้จักเป็นอย่างดีโดยเฉพาะกับเกม Free to Play มาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะมีขายตั้งแต่ของตกแต่ง ของอัพเกรดตัวละคร และบางครั้งก็เกี่ยวข้องกับ Lootbox อีกด้วย 

หน้าหลักร้านค้า ซึ่งมีทุกอย่างเพื่อสูบเงิน

Legendary Crest มหาไอเทมเจ้าปัญหาที่ทำให้หลายคนด่าสาดเสียเท

        ในส่วนของตกแต่ง และการบริการเล็ก ๆ น้อย ๆ เชื่อว่าคงไม่ขัดใจเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับ Lootbox กันดีอยู่แล้วและรู้ด้วยว่า Lootbox เป็นการขายที่สีเทาสำหรับวงการเกมมาก ๆ เพราะมีเส้นคั่นบาง ๆ ระหว่างการสุ่มกับการพนัน ทั้งยังเป็นรายได้มหาศาลให้กับค่ายเกมยักษ์ใหญ่หลายค่าย จึงไม่พ้นจะมีสิ่งนี้ใส่เข้ามาในเกมเสมอ ภายหลังจึงมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับ Lootbox เพื่อป้องกันไม่ให้มันกลายเป็นการพนัน (และไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศมากเกินไป) จึงมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งคือต้องบอกอัตราการได้ของประจำกล่องหรือมีจุดประกันการได้ของที่แน่นอน บางเกมก็มีข้อใดข้อหนึ่งบางเกมก็มีทั้งสองข้อซึ่งเป็นผลดีกับผู้เล่นเพราะช่วยในการตัดสินใจหรือเพิ่มขีดจำกัดของคำว่า "พอ"

        แต่สิ่งที่ Diablo Immortal ทำไปคือ "เลี่ยง" ทั้งสองข้อที่กล่าวข้างต้น! พวกเขาทำได้อย่างไร คงต้องย้อนกลับไปที่ Elder Rifts ซึ่งอธิบายก่อนหน้านี้ว่าสามารถใส่ Crests เพิ่มโอกาสตก Legendary Gems ทว่า Crests ที่ใช้กับ Elder Rifts จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Rare Crests และ Legendary Crests 

        ในส่วนของ Rare Crests จัดว่าหาค่อนข้างง่าย สามารถใช้ค่าเงินในเกมแลกได้หรือรับฟรีก็มี ทว่าประสิทธิภาพของมันไม่เพียงพอจะเรียกให้ Legendary Gems ตกได้ ทำได้เพียงเพิ่ม Runes ซึ่งสามารถนำไปแลก Legendary Gems ตกเพียงเท่านั้น หากอยากได้ Legendary Gems จำเป็นต้องใช้ Legendary Crests ซึ่งหาทั่วไปไม่ได้นอกจาก Battle Pass เพียงไม่กี่ชิ้นและการอัพเกรดอื่น ๆ อย่าง Boon of Plenty, Prodigy's Path หรือการซื้อแพ็กเกจอื่น ๆ ก็ไม่ได้มากพอจะมั่นใจได้ว่าจะตก Legendary Gems ที่ต้องการ ทางที่เหลือก็มีแต่จะต้องซื้อ Legendary Crests เท่านั้น ซึ่งหากใช้อัดเพิ่มโอกาสตกเต็มที่ต้องใช้ถึง 10 ชิ้น ตีเป็นอัตราเงินบาทจะสูงถึง ฿800+ ต่อการสุ่มเพียง "1 ครั้ง" ซึ่งสูงมาก

        ทุกคนเห็นกลไกการทำงานของ Elder Rifts และ Legendary Crests น่าจะเข้าใจแล้วว่ามันคือ Lootbox ดี ๆ นี่เองเพียงแต่มาในรูปแบบคอนเทนต์ของเกม นี่จึงเป็นเหตุให้ชุมชนแฟนซีรี่ย์ถึงกับเดือดดาลอย่างมากเพราะนั่นหมายความว่าค่ายเกมสามารถเล่นไม่ซื่อได้ ไม่จำเป็นต้องบอกอัตราการตกและไม่จำเป็นต้องมีประกันการตกถึงได้ฉายาภาคนี้ว่า "Diablo Immoral" (ไร้จริยธรรม) นี่ยังไม่นับการขายอย่างอื่นที่สอดแทรกเข้ามาทั้งค่าเงินสำหรับใช้กับตลาดซื้อขายอย่าง Platinum ที่ให้ฟรีน้อยนิดแต่อยากได้มากพอจะตั้งตัวก็ต้องซื้อเพิ่มเติมหรือแพ็คเกจที่ไม่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกด้วย

        มันจะมีคำถามถัดมาว่า "แล้วสายฟรีสามารถเล่นได้ไหม?" คำตอบคือ ได้ "ถ้าคุณไม่แตะ Endgame Contents" ละก็นะ เพราะภาคนี้ก็ตามชื่อคือเน้น Cycle of Strife อันเป็น Endgame PvP เพื่อเฟ้นหาสุดยอดผู้เล่นที่พร้อมโค่นทุกคนที่ขวางหน้า เป็นการแข่งกันของพวกผู้เล่นที่พร้อมมีอันจะจ่าย การมีอยู่ของ Legendary Gems จะเป็นใบเบิกทางขั้นแรกที่ช่วยให้บรรดาผู้ที่พร้อมจ่ายเติบโตรวดเร็วขั้นสุด แน่นอนทุกคนจะแย่งกันเป็น Immortals เพราะสิทธิพิเศษอย่าง Kion's Ordeal ที่มอบ Endgame Items ให้ง่าย ๆ หากไม่จ่ายเพื่อพัฒนาตัวละครของตนให้ไวขึ้นตาม ฝั่งที่กุมอำนาจมีแต่จะยิ่งห่างชั้นไปเรื่อย ๆ และถึงจะไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับ Cycle of Strife ก็ตามการไม่จ่ายเลยก็ยังส่งผลต่อการไต่ระดับความยากที่สูงขึ้นของพื้นที่ล่า ดันเจี้ยน และริฟท์เพราะอย่างไรทรัพยากรก็ไม่พร้อมเท่าคนที่ยอมจ่ายอยู่ดี (จะให้ทัดเทียมก็ต้องลงแรงเล่นมากกว่าหลายเท่า) 

        ปัจจุบันเมื่อเซิฟเวอร์ฝั่ง Americas ผ่านไปกว่าสองเดือน ความต่างชั้นของผู้เล่นฟรีกับผู้เล่นที่ยอมจ่ายก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เล่นฟรีจะอยู่ที่ความยากระดับ Hell II และ Hell III เป็นหลักในขณะที่ผู้เล่นที่ยอมจ่ายสามารถขึ้นไปถึงระดับ Hell IV และมันจะห่างขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ยอมจ่ายตามเพื่อแข่งขัน


        ด้านสุดท้ายที่จะพูดถึงคือการแสดงผล อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ ภาคนี้พัฒนาบนพื้นฐานของมือถือเป็นหลัก ทำให้การเล่นบนมือถือง่ายและสะดวกพอสมควร หากไปเล่นบน PC ก็จะให้ความรู้สึกเติมเต็มอีกแบบ ทั้งสองอย่างให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันขึ้นกับว่าจะมองหาอะไร โดยเครื่องที่ใช้ทดสอบจะเป็นตามนี้ 

  • Mobile - iPad Air 3 
  • PC - CPU Intel i7-11700K @ 3.60GHz และ VGA GeForce RTX 2060



  • Mobile - จะบังคับง่ายมาก ยิ่งถ้าเล่นบนแท๊บเล็ตคือฟินกับการลื่นไหลแน่นอน เพราะทั้งการออกทักษะ การบังคับโดยไม่ติดขัดกับศัตรูตามรายทางทำให้รู้ได้ทันทีว่ามันออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องแลกกับคุณภาพของภาพพอสมควรเพราะขนาดที่เล่นใน iPad Air 3 ต้องบอกเลยว่าภาพแตกมากหากเทียบกับ PC แม้ว่าจะปรับเป็น Very High แล้วก็ตาม ที่สำคัญคือเป็นเกมที่ใช้แบตเตอรี่ของเครื่องได้แบบเว่อร์วังมาก ผลาญเร็วมากและทำเอาเครื่องร้อนสุด ๆ 
  • PC - มอบประสบการณ์ภาพสวยเนียนกริบให้ทดแทนที่มือถือให้ตายก็ไม่สามารถทำได้แต่ก็แค่นั้นแหละ ด้วยเกมที่แทบจะถูก "พอร์ตมาดื้อ ๆ" ไม่ได้มีการปรับแต่งอะไรให้เหมาะสม ต่อให้เป็นตัวละครที่เล่นง่ายที่สุดก็ยังชวนหงุดหงิดกับ HUD และ UI ที่เกะกะ การลากเมาส์ไปโดน HUD และ UI ที่มีขนาดใหญ่และการ Interact ที่ไม่จำเป็นจึงเกิดขึ้นประจำและน่าหงุดหงิดมาก
        และขอแถมอีกส่วนหนึ่งคือการบังคับด้วย Controller ซึ่งไม่ว่าจะ Mobile หรือ PC ก็น่าจะเหมือนกัน
  • Controller - ถือเป็นส่วนที่ขอแสดงความเห็นเพิ่มสักหน่อย ที่ได้ทดสอบจริง ๆ คือบน PC ซึ่งขอบอกว่าโดยรวมแล้วลื่นไหลพอตัว นับว่าควบคุมตัวละครได้ดีเป็นอันดับสองรองจาก Mobile เพราะ Controller จะให้ประสบการณ์ที่"ยุ่งยาก"กว่าพอสมควร อย่างการใช้ทักษะร่ายต่อเนื่องจะต้องกดใช้ทักษะพร้อมโยกแกนอนาล็อกขวาอีกด้วย หรือความสับสนที่เกิดจากการใช้ปุ่ม Interact กับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเซ็ตปุ่ม A ดั้งเดิมไว้ แต่พอจะกดปุ่มเข้าเมนูต่าง ๆ กลับต้องใช้ปุ่ม B ในการยืนยัน
        จากที่กล่าวมาถือว่าเป็นข้อดีและข้อเสียที่ผู้เล่นต้องเลือกเองว่าอยากเล่นแบบไหนมากกว่ากัน อย่างไรก็ตามข้อเสียร่วมที่ทั้งสองแพลตฟอร์มมีเหมือนกันเลยคือ เกมกินพื้นที่มากกว่าที่คิดไว้พอสมควร ใน PC น่ะไม่เท่าไหร่ แต่สำหรับมือถือแล้วเนี่ยถือว่าสุด ๆ เลยทีเดียว แถมยังมีทั้งเฟรมเรตตกกระจุยบางช่วงรวมถึง "หลุด" เป็นว่าเล่นแบบแทบจะทุกจังหวะได้อีกด้วย ถ้าเผลอทำอะไรแปลก ๆ หน่อยก็พร้อมหลุดตลอดเวลา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือถือนี่ประจำ เผลอทำจอพลิกเป็นไม่ได้ โอกาสหลุดสูง)

        เอาเป็นว่าสำหรับบนมือถือ ถ้าไม่นับภาพกับกับเรื่องผลาญแบตเตอรี่ (และเรื่องหลุด) ถือว่าใช้ได้ แต่ PC อาการจะหนักหน่อย เพราะนอกจากที่พอร์ตมาดื้อ ๆ ไม่ปรับแต่งแล้วข้อเสียอย่างอาการหลุดจากมือถือก็ยังขนมา PC ในระดับ Copy & Paste เลยทีเดียว (แม้จะไม่หนักเท่ามือถือก็ตาม) เหนื่อยใจหน่อยนะ ชาว PC 



        สุดท้ายแล้ว ถ้าให้ลงความเห็นจริง ๆ Diablo Immortal คือภาคที่มีองค์ประกอบฉากหน้าหลายอย่างดี แต่หน้าฉากจะดีแค่ไหนเมื่อสัมผัสไปนานเข้าจะพบว่าทุกอย่างด่างพร้อย แตกต่าง และขัดจากภาคเดิม การกลายสภาพเป็น MMO เป็นสิ่งที่พาภาคนี้ดำดิ่งอยู่ในจุดที่เลวร้ายขั้นสุด ไม่ว่าจะเส้นเรื่องที่ชวนสับสน องค์ประกอบที่สร้างเป็นโลก Sanctuary การพัฒนาตัวละคร การบริหารกิจกรรมที่ผู้เล่นต้องทำ รูปแบบการบริการ และความหิวเงินในระดับที่มองแต่ไกลก็รู้ ทุกอย่างเกี่ยวพันกันและฉุดลงมาจนเกมพังได้ ถ้าจะแก้ไขกันจริง ๆ ก็ต้องแก้กันยันแก่นของเกมเลยทีเดียว (ซึ่งทุกคนเดาออกอยู่แล้วว่า มันไม่แก้หรอก) สิ่งที่ทำได้หลังจากนี้ มีเพียงอย่างเดียว อย่าเอาความพังของ Diablo Immortal ไปลงกับ Diablo IV ก็พอ 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม